28 เมษายน 2024
Dhamma Story Chicken and Dog

[ธรรมะ] เลี้ยงไก่ใว้ไข่ ให้สุนัขกิน

[ธรรมมะท่านพุทธทาสภิกขุ] พุทธบริษัทส่วนมากมีแต่เลี้ยงไก่ไว้ไข่ให้สุนัขกิน ไม่เป็นผู้รู้จักประโยชน์ของไข่และกินไข่นั้นด้วยตนเอง จากธรรมเทศนาแก่คณะทอดกฐินที่มาแวะเยี่นมสวนโมกข์ ที่โรงธรรม โดยท่าน พุทธทาสภิกขุ

ธรรมเทศนา

ที่ว่าเลี้ยงไก่ไว้ไข่ให้สุนัขกินนั้น มันมีความหมายอย่างไร ขอให้ลองคิดดู แล้วลองคิดดูว่าถ้าใครคนหนึ่งเลี้ยงไก่ อุตส่าห์เลี้ยงด้วยความยากลำบากสิ้นเปลือง แต่พอไก่นั้นไข่ออกมา ก็หารู้ไม่ว่านั้นเป็นไข่ไก่ที่ควรจะกิน เพราะไม่เอาใจใส่ในเรื่องไข่ไก่ ละเลยเพิกเฉย ในที่สุดคือนักก็กินไข่ไก่เหล่านั้้น แล้วคนผู้เลี้ยงคนนั้นจะอยู่ในลักษณะที่น่าเวทนาสงสารสักเพียงไรขอให้คิดดูเถิด

ทีนี้ ถ้าเราจะเปรียบไก่ที่จะไข่นี้ เหมือนกับศาสนา เราเลี้ยงไก่คือเลี้ยงศาสนา ก็คือบำรุงศาสนานั่นเอง เราบำรุงศาสนากันเป็นการใหญ่เท่าไร ท่านทั้งหลายก็พอจะเข้าใจได้อยู่แล้ว เหนื่อยเท่าไร สิ้นเปลืองเท่าไร หมดเวลาไปเท่าไร นี้เป็นเรื่องการเลี้ยงไก่ คือบำรุงพระศาสนา

ทีนี้ พอถึงทีที่ศาสนาจะให้อะไรแก่ท่านบ้างในส่วนที่เป็นหัวใจของศาสนาจริงๆนั้น ท่านทั้งหลายก็มักจะไม่สนใจ ไม่สนใจเสียเลยก็มี

นี้ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่งซึ่งแสดงว่าเราต้องเลื่อนชั้น เลื่อนชั้นจากการจะเลี้ยงไก่ไว้ไข่ให้สุนัขกินนั้น มาเป็นผู้กินไข่ไก่กันเองเสียบ้าง

คำว่า “เลื่อนชั้น” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการที่จะต้องแก้ไขหลักพระธรรมคำสอน หากแต่ว่าเราจะต้องรู้จักเอาพระธรรมคำสอนนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์มากกว่าที่เป็นอยู่หรือที่แล้วๆมา ให้นับว่าเป็นการเลื่อนชั้นในการได้ประโยชน์จากพระธรรมคำสอนนั้นก็แล้วกัน

เมื่อมีการแสดงให้ทราบหรือการบอกให้รู้ถึงข้อปฏิบัติทางศาสนาที่เป็นชิ้นเป็นอันหรือเป็น หัวใจของศาสนา ที่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ได้จริงนี้ เราจะต้องรับเอาและจะต้องรับเอาให้ได้ให้ได้รับประโยชน์

ไม่ใช่เพียงแต่ว่าจะทำบุญให้ทานไปตามธรรมเนียมประเพณีอย่างเดียว เราต้อง เลื่อนจากทำบุญมาเป็นทำหัวใจของพระศาสนา

คือทำจิตทำใจแก่กันเสียบ้างตามสมควรแก่อัตภาพ สติปัญญาของตนของตน ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นพระอรหันต์กันได้ทั้งหมด แต่หมายความว่าเราจะต้องประพฤติปฏิบัติธรรมะในส่วนที่เป็นตัวแท้ เนื้อแท้ หรือหัวใจของพระพุทธศาสนานั้น ให้ได้พอสมควรให้ได้รับประโยชน์เป็นความสะอาด สว่าง สงบแก่จิตใจตามสมควร อย่างนี้จึงจะเรียกว่า เป็นผู้กินไข่ไก่ จะได้รับประโยชน์อันแท้จริงจากพระศาสนานั่นเอง

เลื่อนเข้าหาหัวใจพระพุทธศาสนา

พุทธบริษัทเราก็ควรจะถือว่าเป็นการถึงเวลาแล้วที่เราควรจะเลื่อนชั้นตัวเราเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เราก็จะต้องเข้าใจถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ ความรู้เรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น เรื่องอนัตตา เรื่องสุญญาตานั่นเอง

ถ้ายังไม่ขึ้นมาถึงระดับนี้ ก็เรียกว่ายังไม่ได้กินไข่ไก่ คือยังไม่ได้กินไข่ของศาสนา อย่างดีก็จะไปกินขนไก่ กินเปลือกไข่ไก่ อะไรทำนองนั้นมากกว่า ถ้าถึงขนาดที่จะเรียกว่ากินไข่ของไก่ ก็คือกินเข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนากันแล้ว ก็ต้องรู้ถึงธรรมะข้อนี้และการศึกษาเปรียบเทียบโดยนัยดังที่กล่าวมานี้

ลองพิจารณาย้อนหลังดูว่าพอออกจากบ้านมาขึ้นรถไฟ ทำไมมันจึงเริ่มสบายใจ พอรถไฟเคลื่อนไปเคลื่อนไป มันก็ยิ่งสบายใจ ยิ่งสบายใจ ไปถึงจังหวัดที่เราไปทอดกฐินก็ยิ่งสบายใจ แม้แต่เวลานี้ก็ยังสบายใจอยู่ เพราะว่าตลอดเวลานี้ สิ่งที่เรียกว่า “ตัวกูหรือของกู” นั้นมันเลือนไป เลือนไป จนลับหายไป เพราะสิ่งอื่นเข้ามาแทนที่

หรือถ้าเราชอบใจในธรรมชาติอย่างนี้ ธรรมชาติอย่างนี้ก็ครอบงำทำให้ลืมตัวกูของกู ลืมกระทั่งสิ่งที่เรียกว่าเป็นชีวิต จึงมีความสบายใจบอกไม่ถูก นี้แหละเรียกว่า เวลาที่เราไม่รู้สึกว่ามีอะไรเลยนั่นแหละเป็นเวลาที่เป็นสุขแท้จริงอย่างยิ่งถึงที่สุด หากก็เป็นแต่เพียงว่า มันชั่วคราว

เราควรจะทำให้มันยั่งยืนกว่านี้ ความได้รู้รสของพระนิพพานแต่เพียงชั่วคราวอย่างนี้ก็นับว่าเป็นการดีมากอยู่ คือเป็นเรื่องตัวอย่าง หรือเป็นเรื่องชิมลองให้เกิดความสนใจมากขึ้น แล้วก็ไปพยายามประพฤติปฏิบัติให้สูงขึ้นไป ให้มีอยู่มากขึ้นๆ เราก็จะได้รับประโยชน์อย่างเดียวกันกับที่พระอริยเจ้าท่านได้รับกัน

ปากอย่างใจอย่าง

ความสำคัญมันจึงมีอยู่ที่ว่า เราต้องไม่มีอะไรเป็นตัวกูหรือของกู

แม้เราจะพูดว่าบ้านของเรา ลูกของเรา หลานของเรา หรือชีวิตของเรา ขอให้เป็นแต่ปากว่าเถิด ส่วนใจแท้จริงนั้น อย่าไปสำคัญมั่นหมายถึงขนาดนั้นเลย มันเป็นอุปาทานที่จะทำให้ของเหล่านั้นกลายเป็นของหนักขึ้นมา

ถ้าเราไปหมายมั่นด้วยจิตใจว่าเป็นของเราจริงๆ แล้ว ทุกอย่างมันจะขึ้นมาสุมอยู่บนศีรษะเรา มีวัว มีควาย มีไร่มีนา ก็จะมาสุมอยู่บนศีรษะเรา มีเรือกสวนไร่นา มีบ้าน มีตึก มีอะไรๆก็ล้วนแต่จะมาสุมอยู่บนศีรษะของเราแล้วมันจะทนไหวได้อย่างไร

ฉะนั้นเราจึงมีตามสักแต่ปากว่า เหมือนกับพูดว่าของเรา เงินของเรา ทองของเรา บ้านของเรา เรือนของเรา แต่จิตใจอย่าไปสำคัญมั่นหมายเช่นนั้น ไม่มีอุปาทานในลักษณะเช่นนั้นแล้ว มันก็ไม่มาอยู่บนศีรษะของเรา มันก็อยู่ตามที่ของมัน เราจะใช้ จะสอย จะกิน จะทำอะไรได้ทุกอย่างโดยไม่มีความทุกข์เลย

ดังนั้น จึงขอชักชวนท่านทั้งหลายว่า เรามาหัดเป็นคนปากอย่างใจอย่าง
คือปากกับใจไม่ตรงกันเสียเลยเสียดีกว่า ปากพูดว่าของเรา แต่ใจอย่าเป็นของเรา ปากพูดว่าตัวเรา แต่ใจอย่าเป็นตัวเรา อย่าสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเราของเรา เราหัดได้อย่างนี้ เราจะเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้รับความสงบเย็นเป็นสุข ชนิดที่เป็นขั้นสูงสุดของพระพุทธศาสนา

เรียกว่าเราเลื่อนชั้น ด้วยการเดี๋ยวนี้เรามาเป็นคนปากอย่างใจอย่าง ปากกับใจไม่ตรงกันในลักษณะเช่นนี้เสียทีเถิด เป็นวิธีลัดสั้นที่สุดแล้วที่จะเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา

เลื่อนขั้นปฏิบัติธรรมให้สมกับวัย

จงปฏิบัติธรรมให้เลื่อนชั้นขึ้นไปในลักษณะนี้ให้สมควรแก่ธรรม เช่น ให้สมควรแก่วัย เราต้องรู้จักเป็นคนโตกันเสียบ้าง อย่าเป็นเด็กอยู่เรื่อยไป เคยมีอะไรเมื่อเด็กๆอย่างไร โตขึ้นต้องมีมากกว่านั้น ชั้นและวัยเปลี่ยนลำดับอยู่ทุกเวลานาที ความรู้ทางจิตใจ ภาวะทางจิตใจ ความสุขทางจิตใจ ก็ควรจะเลื่อนชั้นไปตามกันด้วย

คนแต่โบราณก่อนพุทธกาลเขาวางกฎไว้ ๔ อันดับ เรียกว่า “อาศรม” คือ

คนพวกหนึ่งอยู่ในวัยเด็กหนุ่มสาวเรียกว่า “พรหมจารี” มีหน้าที่อย่างไรก็ต้องทำให้ดีที่สุด คือการศึกษาเล่าเรียนประพฤติเคร่งครัดในระเบียบแบบแผน ในเรื่องศีลธรรม ในเรื่องวัฒนธรรม เป็นต้น

ต่อมาก็ถึงอาศรมที่สอง คือหมู่คนที่เป็น “คฤหัสถ์” ครองเรือนเป็นสามีภรรยา เป็นบิดามารดา เป็นต้น ก็มีหน้าที่แปลกออกไป ก็ต้องทำให้ดีที่สุดคือเป็นคฤหัสถ์ที่ดี

ต่อมาอีกถึงวัยที่ล่วงไปมาก ก็เรียกว่าถึงอาศรมที่สาม คือหมู่คนที่หยุดพักการงานทางกาย มาสนใจในเรื่องทางจิตใจ อาศรมที่สามนี้เรียกว่า “วนปรัสถ์” โดยตัวหนังสือแปลว่าอยู่ป่า แต่ไม่ต้องหมายถึงป่าอย่างที่เราเรียกๆกัน หมายถึงที่สงบสงัด พอที่จะคิดนึกในทางจิตทางใจก็ได้ ที่กอกล้วย กอไผ่ ที่มุมบ้านก็ได้

คนแก่นี้ปลีกตัวไปนั่งคนเดียว พิจารณาในภายใน ในด้านใน ให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสิ่งที่ผ่านมาแล้ว ว่าชีวิตคืออะไร การงานคืออะไร เงินทองคืออะไร สุขทุกข์คืออะไร เป็นต้น จะสามารถปรับจิตใจให้รับประโยชน์ที่สูงขึ้นไปกว่าที่เป็นคฤหัสถ์

ทีนี้ถ้ายังมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกไม่ตายเสีย ก็ถึงอาศรมที่สี่ ซึ่งเรียกว่า “สันยาสี” คือทำหน้าที่เป็นแสงสว่างแก่ผู้อื่นแล้ว จะเที่ยวเดินไปสอนคนก็ได้หรือนั่งอยู่ให้เขามาถามปัญหาก็ได้ สามารถจะแก้ปัญหาเกี่ยวกับชีวิตจิตใจได้อย่างสมบูรณ์ นี้เรียกว่าผู้นั้นได้ดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนชั้นมาด้วยดีครบตามชั้นและวัย คือครบในอาศรมทั้ง ๔ นี้ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์เลย และไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนาด้วย

ที่มา ท่านพุทธทาสภิกขุ ธรรมเทศนาแก่คณะทอดกฐินที่มาแวะเยี่นมสวนโมกข์ ที่โรงธรรม

ความคิดเห็น