23 เมษายน 2024
วิธีหนีนรก

วิธีหนีนรก โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดํา

หลวงพ่อฤาษีลิงดํา ท่านได้อธิบายถึงวิธีการหนีนรกใว้ใน หนังสือพ่อสอนลูก โดยท่านอธิบายใว้ดังนี้

การปฏิบัติขอแยกบารมีหรืออารมณ์ใจไว้เป็น ๓ ระดับคือ อย่างอ่อน อย่างกลาง อย่างเข้ม

คนที่กำลังใจเข้มแข็ง

เพียงบอกให้ทราบก็พร้อมที่จะทำได้และลงมือปฏิบัติได้เลย ไม่ต้องทบทวนแนะนำอย่างอื่นอีกเพราะศีล ๕ ก็ดี กรรมบถ ๑๐ ก็ดี เป็นปฏิปทาที่ทุกคนต้องการ เป็นของไม่ยากสำหรับคนที่มีบารมีเข้มข้น

คือกำลังใจเต็มในด้านความดี เมื่อปฏิบัติจริงก็พ้นนรกได้จริง ถ้าจะวนเวียนเกิดก็มีสิทธิ์เกิดได้เพียงมนุษย์ สวรรค์ พรหม ในที่สุดก็ไปนิพพาน

ผู้ที่มีบารมีระดับกลาง

ต้องมีเครื่องกระตุ้นใจนิดหน่อย ขอให้ปฏิบัติตัว ปฏิบัติวาจาและใจดังนี้

อันดับแรก จับจุดที่ใจก่อน เมื่อชนะใจแล้ว
กายและวาจาก็หมดฤทธิ์ เพราะกายเเละวาจาอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของใจ ใจคิดแบบไหนกายก็ทำแบบนั้น วาจาก็พูดตามนั้น ถ้าบังคับใจอยู่ก็หมดภาระในการหนักอารมณ์ที่จะบังคับกายกับวาจา

บารมีขั้นกลางนี้ไม่ต้องมีอุปกรณ์ช่วยเหลือมาก เพียงอิทธิบาท ๔ ประการก็สามารถปฏิบัติครบถ้วนได้ภายใน ๗ วัน

หลวงพ่อฤาษีลิงดํา

อิทธิบาท๔ประการ คือ

๑. ฉันทะ

มีความพอใจในปฏิปทาที่จะปฏิบัติคืออารมณ์พร้อมยอมรับความจริงว่า #ชีวิตนี้ต้องตายแน่ไม่มีใครที่จะไม่ตาย

๒. วิริยะ

มีความเพียร พร้อมในการต่อสู้กับอารมณ์ที่คัดค้าน ที่มีอารมณ์คิดว่าจะไม่ตาย มีปัญญาฉลาดยอมรับความจริงว่า ความตายมีแน่และเวลาที่จะตายเอาแน่นอนไม่ได้ #คิดว่าอาจจะตายวันนี้ไว้เสมอ เพื่อให้มีอารมณ์ทรงความดี ไม่มีอารมณ์ชั่วสิงใจเพราะอารมณ์ชั่วจะพาไปอบายภูมิ

๓. จิตตะ

เอาอารมณ์ใจจดจ่อในปฏิปทาที่จะปฏิบัติ ไม่ลืมความตาย ไม่ลืมความดีของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ สนใจในข้อวัตรปฏิบัติของศีล และกรรมบถ ๑๐ ไม่ละวาง

๔. วิมังสา

มีปัญญาสามารถพิจารณาตนเอง คือพิจารณาอารมณ์ของตนเองได้ว่า ” การที่เราปฏิบัติอยู่นี้ถูกหรือผิด หยาบ หรือละเอียด มีอารมณ์บกพร่องที่จุดไหนบ้าง ถือมงคลตื่นข่าวหรือเปล่า ”

คำว่า ถือมงคลตื่นข่าว คือ

ไม่มีความมั่นใจในตนเอง มีข่าวว่าดีที่ไหนไปที่นั่น ข้อวัตรปฏิบัติก็ไม่มีอารมณ์ทรงตัว ใครว่าอย่างไรดีทำตามนั้น ในที่สุดก็กลายเป็นคนจับจด ไม่มีอะไรแน่นอนจริงจัง

คนอย่างนี้ท่านเรียกว่า คนขาดสัญญา คือความจำ และไร้ปัญญา คือไร้ความคิด ความฉลาด จะว่าโง่เฉยๆ ก็ไม่แน่ใจนัก ถ้าจะพูดว่าโง่แกมหยิ่งเห็นจะพอไปได้

เป็นอันว่า ใครจะปฏิบัติได้หรือไม่ได้ ไม่ขอยืนยัน เพราะยืนยันก็แล้ว นั่งยันก็แล้ว นอนยันก็แล้ว บางท่านยันเท่าไรก็ไม่ขยับตัว ชักเอือมเต็มที เชิญตามสบาย มีหน้าที่บอกก็บอกให้แล้ว จะทำตามหรือไม่เป็นหน้าที่ของผู้อ่าน

คนที่มีอารมณ์ใจเข้มแข็งน้อย

หรือมีกำลังใจค่อนข้างอ่อนแอ แต่มีแววพอที่จะทำได้ ให้เลือกปฏิบัติเอาจริงจังเป็นข้อๆ ที่พอจะทำได้ ให้เอาชนะจริงๆ ข้อใดข้อหนึ่งไปเลย เมื่อชนะข้อใดข้อหนึ่งแน่นอนแล้วก็ค่อยๆ เลือกเอาข้อที่เห็นว่าง่าย ไม่นานเท่าไรก็ชนะหมดทุกข้อ

ท่านที่มีบารมีอ่อนนี้มีหลายประเภท

ประเภทอ่อนน้อยแนะนำไม่มากก็สามารถทำได้ ที่อ่อนมากไปหน่อยก็ต้องซ้ำๆ ซากๆ คนสอนเหนื่อยหน่อยที่อ่อนปวกเปียกก็สอนไม่ได้เลย

ผู้ที่บารมีอ่อนทำตามนี้ คือ พรหมวิหาร ๔ เป็นการปฏิบัติแบบเห็นอกเขาอกเรา คือเห็นใจกันเอากฎธรรมดาใช้ ธรรมะจริงๆ คือ กฎธรรมดา

๑. เมตตา

มีความรักในคนและสัตว์ทั่วไป ถ้าจะละเมิดศีล หรือกรรมบถข้อไหนก็นึกถึงเมตตาก่อน คิดว่าเราสร้างความรักในกันและกันดี หรือว่าเราสร้างศัตรูดี

เลือกเอาตามชอบใจ อยากลงนรกก็สร้างศัตรู ไม่อยาก ลงนรกก็สร้างความเป็นมิตร ในที่สุดก็จะละเมิดศีลและกรรมบถ ๑๐ ไม่ได้เลย

๒. กรุณา

๓. มุทิตา

มีจิตอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยาใคร เห็นใครได้ดีพลอยยินดีด้วย

ทั้ง ๓ ข้อนี้เป็นจริยามหาเสน่ห์
“จริยา” หมายถึง ความประพฤติ คือประพฤติปฏิบัติตนเป็นมหาเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น ผู้คบหาสมาคมด้วย

๔. อุเบกขา

วางเฉย เป็นการเฉยที่เกินกำลังจะช่วยเมื่อช่วยไม่ไหวดิ้นรนไปก็เหนื่อยเปล่า ไร้ประโยชน์ เฉยไว้ พร้อมทั้งใจยังมีเมตตากรุณาครบถ้วน รอจังหวะหรือโอกาสมีเมื่อไรจะช่วยทันที ถ้าจังหวะไม่มีก็ขอเฉยไว้ก่อน

ผู้ที่มีบารมีอ่อนแหยะ ถ้าค่อยๆ ทำตามนี้คือใช้อารมณ์พรหมวิหาร ๔ และอิทธิบาท ๔ ค่อย ๆกระตุ้นใจ ทำแบบชนิดไม่เร่งร้อน ในที่สุดก็จะชนะอารมณ์ชั่ว คือ การทำลายศีล ๕ หรือกรรมบถ ๑๐ ผู้ใดบอกว่าเกินวิสัยตน ก็ไม่ขอตำหนิเพราะเป็นของธรรมดาของบารมี

จากหนังสือ พ่อสอนลูก หน้า ๒๓๔-๒๓๖ โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน พระมหา วัดจันทาราม(วัดท่าซุง)จ.อุทัยธานีวีระ ถาวโร

ความคิดเห็น