19 กันยายน 2024
หัวใจ ของพระพุทธศาสนา

หัวใจ ของพระพุทธศาสนา

หัวใจ ของพระพุทธศาสนา พระพุทธพจน์ และบทสวด โอวาทปาฏิโมกขคาถา พร้อมคำแปล

พระพุทธพจน์คาถาแรก

ทรงกล่าวถึง “หลักการอันเป็นหัวใจสำคัญ 3 ประการ” กล่าวกันว่าเป็นการสรุปรวบยอดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอันเป็นแนวทางที่พุทธบริษัทพึงปฏิบัติ ได้แก่

  1. #การไม่ทำบาปทั้งปวง (ศีล)
  2. #การทำกุศลให้ถึงพร้อม(ทาน)
  3. #การทำจิตใจให้บริสุทธิ์(ภาวนา,ปัญญา)

ทั้งหมดต้องปฏิบัติไปพร้อมกัน(หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน) ศีลที่แท้จริงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีอภัยทาน (ให้ความไม่เป็นภัยเป็นทาน)

อภัยทานที่แท้จริงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีปัญญาที่แท้จริง ปัญญาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีศีลที่แท้จริง ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สิ่งที่เกี่ยวข้องก็เกิดขึ้นไม่ได้

มีผู้อธิบายว่าทั้งสามข้อนี้อาจอนุมานเข้ากับ ศีล สมาธิ และปัญญา

พระพุทธพจน์คาถาที่สอง

ทรงกล่าวถึง “อุดมการณ์ 4 ของพระพุทธศาสนา” อันเป็นอุดมการณ์อันสูงสุดของพระภิกษุและบรรพชิตในพระพุทธศาสนานี้ ได้แก่

  1. #ความอดทนอดกลั้น เป็นสิ่งที่นักบวชในศาสนานี้พึงยึดถือและเป็นสิ่งที่ต้องใช้เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจทุกอย่างที่ต้องเจอในชีวิตนักบวช เช่น ประสงค์ร้อนได้เย็น ประสงค์เย็นได้ร้อน
  2. #การมุ่งให้ถึงพระนิพพาน เป็นเป้าหมายหลักของผู้ออกบวช มิใช่สิ่งอื่นนอกจากพระนิพพาน
  3. #ไม่พึงทำผู้อื่นให้ลำบาก ด้วยการเบียดเบียนทำความทุกข์กายหรือทุกข์ทางใจไม่ว่าจะในกรณีใดๆ
  4. #พึงเป็นผู้มีจิตใจสงบ จากอกุศลวิตกทั้งหลายมีความโลภ โกรธ หลง เป็นต้น

พระพุทธพจน์คาถาที่สาม

ทรงกล่าวถึง “วิธีการที่ธรรมทูต 6” ผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาถือเป็นกลยุทธ พระภิกษุที่ออกเผยแผ่พระพุทธศาสนาซึ่งมีเป็นจำนวนมากให้ใช้วิธีการเหมือนกันเพื่อจะได้เป็นไปในแนวทางเดียวกันและถูกต้องเป็นธรรม ได้แก่ วิธีการทั้ง 6 ดังนี้

  1. #การไม่กล่าวร้าย (เผยแผ่ศาสนาด้วยการไม่กล่าวร้ายโจมตีดูถูกความเชื่อผู้อื่น)
  2. #การไม่ทำร้าย (เผยแผ่ศาสนาด้วยการไม่ใช้กำลังบังคับข่มขู่ด้วยวิธีการต่างๆ)
  3. #ความสำรวม ในพระปาฏิโมกข์ (รักษาความประพฤติให้น่าเลื่อมใส)
  4. #ความเป็นผู้รู้จักประมาณ ในการบริโภค (เสพปัจจัยสี่อย่างรู้ประมาณพอเพียง)
  5. #นั่งนอนในที่อันสงัด (สันโดษไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ)
  6. #ความเพียรในอธิจิต (พัฒนาจิตใจให้ยิ่งด้วยสมถะและวิปัสสนาเสมอ มิใช่ว่าเอาแต่สอนแต่ตนเองไม่กระทำตามที่สอน)
  7. โอวาทปาฏิโมกขคาถา

    (หันทะ มะยัง โอวาทะปาฏิโมกขะคาถาโย ภะณามะ เส)

    สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง
    – การไม่ทำบาปทั้งปวง

    กุสะลัสสูปะสัมปะทา
    – การทำกุศลให้ถึงพร้อม

    สะจิตตะปะริโยทะปะนัง
    – การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ

    เอตัง พุทธานะสาสะนัง
    – ธรรม ๓ อย่างนี้, เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

    ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา
    – ขันติ คือความอดกลั้น, เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง

    นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา
    – ผู้รู้ทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง

    นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี
    – ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย

    สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต
    – ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย

    อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต
    – การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย

    ปาติโมกเข จะ สังวะโร
    – การสำรวมในปาติโมกข์

    มัตตัญญุตา จะ ภัตตัส๎มิง
    – ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค

    ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง
    – การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด

    อะธิจิตเต จะ อาโยโค
    – ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง

    เอตัง พุทธานะสาสะนัง
    – ธรรม ๖ อย่างนี้, เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

    ที่มา : วัดโพธิทองบางมด

ความคิดเห็น