7 ธันวาคม 2024

จงเห็นความเกียจคร้านว่าเป็นภัยและเห็นการปรารถความเพียรว่าเป็นความปลอดภัย

จงเห็นความเกียจคร้านว่าเป็นภัยและเห็นการปรารถความเพียรว่าเป็นความปลอดภัย

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย อปทาน ความว่า

โกสชฺชํ ภยโต ทิสฺวา วิริยารมฺภญฺจ เขมโต อารทฺธวิริยา โหถ เอสา พุทฺธานุสาสนี

ท่านทั้งหลายจงเห็นความเกียจคร้านว่าเป็นภัยและเห็นการปรารถความเพียรว่าเป็นความปลอดภัย และปรารถความเพียรเถิด

ความขยันหมั่นเพียรเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ชีวิตเราเจริญก้าวหน้า คนเราถ้าเกียจคร้านในการประกอบสัมมาอาชีวะแล้วก็ยากที่จะดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุขได้ ความขยันหมั่นเพียรจึงมีความจำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสหรือบรรพชิตก็ตาม ชีวิตของนักบวชมีเป้าหมาย คือการสลัดตนให้พ้นจากกองทุกข์ มีความเพียรในการปฏิบัติธรรม หากขาดความเพียรแล้วย่อมไม่สามารถจะบรรลุธรรมได้ ดังเรื่องต่อไปนี้

ในสมัยพุทธกาลมีกุลบุตรคนหนึ่งเป็นชาวเมืองสาวัตถี ได้ฟังธรรมจากพระบรมศาสดาแล้วก็เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจึงได้ออกบวช เมื่อบวชแล้วก็พักอาศัยอยู่ที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร

จนกระทั่งครบ ๕ พรรษาและก็ขอลาพระอุปชาจารย์ไปแสวงหาที่ปฏิบัติธรรมได้เข้าไปพำนักอาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่งแถวหมู่บ้านชนบท พวกชาวบ้านเมื่อเห็นพระภิกษุรูปนี้มีความตั้งใจในการปฏิบัติธรรม จึงพร้อมใจกันสร้างบรรณศาลาถวายให้ท่านหลังหนึ่ง

พอถึงฤดูเข้าพรรษาท่านก็ปฏิบัติธรรมอย่างอุกฤษฏ์ตลอดทั้งพรรษา ทำความเพียรไม่เคยขาดเลย แต่ว่าท่านก็ไม่สามารถบรรลุธรรมขั้นใดขั้นหนึ่งได้ จึงเกิดความท้อแท้ใจ คิดไปเองว่าบุคคลทั้ง ๔ เหล่าที่พระบรมศาสดาตรัสไว้ เราเองก็คงจะเป็นประเภทปทปรมะถึงไม่ได้บรรลุธรรมสักที เมื่อคิดแล้วจึงเดินทางกลับวัดพระเชตวันทันที

เมื่อพระภิกษุรูปนี้เดินทางกลับถึงวัดแล้ว อุปชาจารย์และเพื่อนสหธรรมิกที่คุ้นเคยกันต่างก็มาถามถึงผลการปฏิบัติธรรม ท่านก็บอกไปตามความเป็นจริงและบอกเหตุผลที่ตนละทิ้งความเพียร อุปชาและเพื่อนสหธรรมิกจึงนำตัวท่านไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา

พระบรมศาสดาตรัสถามถึงเหตุที่พากันมาเข้าเฝ้า พวกภิกษุจึงกราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ พระบรมศาสดาจึงตรัสถามภิกษุรูปนี้ว่า “จริงหรือภิกษุ ที่เขาบอกว่าเธอละทิ้งความเพียร” พระภิกษุรูปนึ้จึงกราบทูลว่าจริงพระเจ้าค่ะ พระบรมศาสดาจึงตรัสว่าทำไมเธอจึงละทิ้งความเพียรเสียเล่า การบรรลุพระอรหัตผลอันเลิศในพระศาสนานี้จะเกิดขึ้นเฉพาะกับคนที่มีความเพียรเท่านั้น

ถ้าเธอเกียจคร้านเสียแล้วก็ไม่สามารถจะเข้าถึงได้ ในอดีตเธอเองก็เป็นผู้มีความเพียรและอดทนต่อโอวาสของเรามาแล้ว พวกภิกษุจึงทูลอาราธนาให้พระบรมศาสดาตรัสเล่าให้ฟัง พระพุทธองค์จึงตรัสให้ฟังว่า ในอดีตกาลมีพระราชาพระองค์หนึ่งครองราชย์อยู่ในเมืองพาราณสี

พระโอรสองค์สุดท้ายของพระองค์เป็นที่รักใคร่ของชาวเมืองทั่วทั้งพระนคร เพราะพระโอรสทรงสงเคราะห์ชาวเมืองด้วยสังคหวัตถุ ๔ ต่อมาพระราชาได้ทรงพระประชวร พวกอำมาตย์จึงทูลถามกันว่าถ้าหากพระองค์ทรงสวรรคตแล้วจะมอบราชสมบัติให้พระโอรสองค์ไหน เพราะราชโอรสมีมากถึง ๑๐๐ พระองค์

พระราชาจึงตรัสว่า พระโอรสองค์ไหนครองใจพวกท่านและชาวเมืองได้ก็จงยกราชสมบัติให้กับพระโอรสองค์นั้นครองราชย์ต่อจากเราเถิด หลังจากที่พระราชาสวรรคตแล้ว พวกอำมาตย์ก็จัดงานถวายพระเพลิง

พอถึงวันที่เจ็ดก็ประชุมกันเพื่อมอบราชสมบัติให้กับพระราชโอรส ต่างตกลงทำตามพระดำรัสที่รับสั่งไว้ก่อนสวรรคตและพร้อมใจกันมอบราชสมบัติให้กับพระโอรสองค์สุดท้ายที่ทรงพระนามว่าสังวรกุมาร

เพราะพระโอรสเป็นที่รักใคร่ของประชาชนทั่วทั้งเมือง และสามารถครองใจเหล่าอำมาตย์ข้าราชบริพารได้ พระองค์จึงทรงมีความเหมาะสมกว่าพระโอรสคนอื่นๆ พระเจ้าสังวรมหาราชทรงทำตามโอวาสที่อำมาตย์โพธิสัตว์ได้แนะนำเป็นอย่างดี แล้วก็ทรงปกครองแผ่นดินโดนธรรม

ฝ่ายพระโอรสอีก ๙๙ พระองค์ซึ่งปกครองอยู่แถบชนบททรงสดับข่าวการสวรรคตของพระราชบิดาแล้ว ทรงทราบว่าพวกอำมาตย์ได้พร้อมใจกันมอบราชสมบัติให้กับพระโอรสองค์สุดท้าย พระโอรสเหล่านั้นเมื่อทราบแล้วต่างก็ไม่พอพระทัยเพราะดำริว่าควรมอบราชสมบัติให้กับพระโอรสองค์โต

จึงส่งหนังสือถึงพระเจ้าสังวรมหาราชว่าจะมอบฉัตรให้กับเจ้าพี่หรือจะรบกันแล้วยกทัพมาล้อมเมืองเอาไว้ เมื่อพระราชาทรงรับทราบแล้วจึงรีบเข้าไปปรึกษากับอำมาตย์พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์จึงกราบทูลว่าพระองค์ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น เพียงแค่แบ่งราชสมบัติของพระบิดาส่งไปถวายกับพระโอรสทั้ง ๙๙ พระองค์เท่า ๆกันพร้อมทั้งส่งสารไปว่าไม่ต้องการรบกับเจ้าพี่ทุกๆพระองค์

เมื่อพระอุโบสถกุมารพี่ชายคนโตได้รับสารแล้ว จึงได้เรียกพระโอรสที่เหลือทุกๆพระองค์มาหารือ แล้วตรัสว่า พระราชาน้องชายของพวกเราไม่ได้คิดเป็นปฏิปักษ์กับพวกเรา แล้วชาวพระนครก็เต็มใจสถาปนาน้องเราให้เป็นพระราชา ฉะนั้นพวกเราอย่าได้ไปขัดขวางเลย

พระโอรสคนอื่นทั้งหลายจึงพร้อมใจกันยินดีและเอาราชสมบัติกลับไปมอบคืนให้กับพระราชา และต่างก็แยกย้ายกันกลับไปยังหัวเมืองของตน หลังจากนั้นพระราชาจึงตรัสรับสั่งให้เหล่าอำมาตย์เอาราชสมบัติตามไปถวายพระโอรสในแต่ละเมืองอีก วันหนึ่งเหล่าพระโอรสต่างเสด็จเข้ามายังเมืองพาราณสี

พระอุโบสถกุมารทรงทอดพระเนตรเห็นสิริสมบัติของพระเจ้าสังวรมหาราชแล้ว ทรงดำริว่าพระราชบิดาของพวกเราพระองค์เหมือนจะรู้ล่วงหน้าว่าสังวรกุมารมีความเหมาะสมที่จะเป็นพระราชา จึงได้ส่งพระโอรสองค์อื่นๆไปครองเมืองต่างๆโดยรอบ พระเจ้าสังวรมหาราชได้ทรงพระราชตำแหน่งใหญ่ให้กับพระเชษฐาทุกๆพระองค์ พระโอรสเหล่านั้นประทับอยู่ในพระราชวังนานถึงสิบห้าวันก่อนที่จะเสด็จกลับและได้ทูลกับพระเจ้าสังวรมหาราชว่า พวกพี่ๆจะช่วยกันดูแลเมืองแถบชนบทจะได้ไม่มีโจรมารุกราน น้องไม่ต้องห่วงและครองราชย์อย่างมีความสุขเถิด และต่อมาต่างก็เสด็จกลับไปยังเมืองของตน

เมื่อพระบรมศาสดาตรัสเล่าเรื่องจบจึงตรัสย้ำกับภิกษุอีกว่า เมื่อก่อนเธอยังอดทนต่อโอวาสของเราทำให้ถึงความเป็นใหญ่กว่าใครในพระนคร และทำไมชาตินี้จึงจะละความเพียรเสียเล่า พอจบพระธรรมเทศนาพระภิกษุรูปนี้ก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน

จะเห็นได้ว่าคนเราไม่ว่าจะอยู่ในทางโลกหรือทางธรรมหากจะเอาดีให้ได้ก็ต้องอาศัยความขยันหมั่นเพียรด้วยกัน ถ้าใครเกียจคร้านจะประกอบการงานอะไรก็ไม่สำเร็จ และมีชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก ฉะนั้นเราต้องมีความขยันหมั่นเพียรในการงานทั้งทางโลกและทางธรรม แล้วชีวิตของเราก็จะประสบความสุขและความสำเร็จในชีวิตกันทุก ๆคน

ความคิดเห็น