ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้บรรยายธรรม ใว้ อธิบายเรื่องความว่างว่ามีกี่แบบ ใว้ดังนี้
ถ้าความรู้สึกคิดนึกนี้ไม่เจืออยู่ด้วย โลภะ โทสะ โมหะ แล้ว จะเรียกว่าว่างจากตัวกูของกู
มีความรู้สึกเป็น “ตัวกู-ของกู” เมื่อไร นั้นคือความโง่ที่สุดของความโง่ทั้งหลาย ความรู้สึกคิดนึกที่มันเกิดขึ้น เกี่ยวกับตัวกูเกี่ยวกับของกู นั่นคือความโง่ที่สุดของความโง่ทั้งหลาย ถ้าไม่มีความโง่ก็คือมีสติปัญญาอยู่โดยอัตโนมัติ
ความว่าง๔แบบ
1. เมื่อเรานอนหลับ
ข้ออันแรกที่จะต้องนึกถึง เมื่อเรานอนหลับ นอนหลับสบายมันก็ไม่เกิดความรู้สึกเป็นตัวกูของกู เราเหน็ดเหนื่อยเราต้องพักนอนตามธรรมดาแต่อย่างนี้มันไม่ใช่ฝีไม้ลายมือของเรา มันของธรรมชาติ เราไม่พูดถึงข้อนี้
แต่จริงๆ เวลานั้นมันเป็นเวลาที่ว่างจากตัวกูของกูเหมือนกัน เป็นตามธรรมชาติ เป็นฝีไม้ลายมือของธรรมชาติ เราอย่ารับเอามาเป็นเรื่องของเราวิชาความรู้ของเราเลย
แต่ขอให้เข้าใจว่าแม้อย่างนั้นก็เป็นเรื่องว่างจากตัวกูของกูแล้วมันสบายแล้วมันมีความสุขเหมือนกัน ถ้าเราไม่ว่างจากตัวกูของกูตามธรรมชาติชนิดนี้แล้วเราเป็นบ้า ไม่ได้มานั่งคุยกันอยู่อย่างนี้ เป็นบ้าตายนานแล้ว
ใครว่างจากตัวกูของกูเช่นนอนหลับมันมีประโยชน์มหาศาลที่ชีวิตนี้จะทรงอยู่ได้ แต่โดยเหตุที่เป็นของธรรมชาติเราก็จะไม่พูดถึงว่าเป็นเรื่องที่เราปฏิบัติหรือทำลงไป ถึงแม้ว่าเราเข้าห้องนอน นอนก็ไม่ใช่เรื่องเราจะไปทำหรือไปบังคับมันได้
2. เรื่องประจวบเหมาะ
ทีนี้ก็เหลือเรื่องต่อไปก็คือว่า เรื่องประจวบเหมาะกันเข้าจิตว่างจากตัวกู เช่น แขกมาเยี่ยมในสวนโมกข์ เข้ามาในสวนโมกข์ในสถานที่อย่างนี้
นั่งนอนยืนเดินอยู่อย่างนี้เป็นความประจวบเหมาะกันพอดีกับธรรมชาติที่มีอยู่อย่างนี้ เขาก็ว่างจากตัวกูของกูได้ จะเดินเหินอยู่สบายยิ้มกริ่มเป็นสุข ถึงกับบ่นออกมาว่าไม่รู้ทำไมเป็นสุขสบาย ไม่รู้ทำไมใจคอมันสบายจริงโว้ยบอกไม่ถูกโว้ย
แต่ว่าความว่างอันนี้มันเป็นเรื่องประจวบเหมาะ เป็น coincidence ของผู้นั้นด้วยของสิ่งต่างๆ นี้ด้วย เรียกว่า ตะทังคะ
ในภาษาบาลีเรียกว่า ตะทังคะ ประกอบอยู่ด้วยโครงอันนั้น ก็หมายความว่าความประจวบเหมาะ อันนี้เราจะไม่สนใจเสียทีเดียวก็ไม่ได้เพราะว่าเราอาจจะเลือกได้จะไปสู่ที่ๆ มันเหมาะสมที่จิตของเราจะเป็นอย่างนั้นได้
เราจะวิ่งไปชายทะเลบ้าง ไปพักผ่อนบนภูเขาบ้างหรือตรงที่ธรรมชาติมันช่วยให้เราหายอารมณ์ร้าย เรื่องอารมณ์ร้ายทั้งหมดเกี่ยวกับตัวกูของกูทั้งนั้น
เรียกว่าไปหาที่ๆ มันจะช่วยหยุดอารมณ์ร้ายโดยไม่ต้องทำอะไรธรรมชาติมันช่วยเหมือนกัน อย่างนี้เรียกว่าประจวบเหมาะเหมือนกัน นี่ความว่างอย่างที่สอง
3. เราบังคับเราระวัง
อย่างที่สามก็คือ เราบังคับเราระวัง เราจัดแจงมัน นี่คือเราศึกษาเล่าเรียนเรื่องกรรมฐานเรื่องทำวิปัสสนาแล้วเราปฏิบัติอยู่ตามนั้น
เป็นความว่างเพราะผลของการปฏิบัตินั้นแต่มันก็เป็นชั่วขณะที่เราปฏิบัติได้ บางเวลาเราก็เผลอไปหรือเรายังปฏิบัติไม่ได้โดยเด็ดขาด มันก็เป็นได้ชั่วที่เราบังคับข่มไว้ นี่มันก็ดีขึ้นมามากแล้ว ดีกว่าอย่างที่หนึ่งที่สองเพราะว่าเราต้องการเมื่อไรก็ทำได้
ถ้าเราทำจนทำได้ มันจะคุ้มได้มาก จะคุ้มได้ดีจะคุ้มได้มาก เราฝึกการปฏิบัติจนเคยชินเป็นนิสัยก็คุ้มได้มาก มีความสบายมาก สำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญสมณะธรรมอะไรอยู่เป็นประจำก็มีส่วนที่มีความสุขมากอย่างนี้
4. ว่างเพราะกิเลสหมด
ทีนี้อันถัดไป จะเรียกอันที่สี่ก็คือว่า ว่างเพราะกิเลสหมด จริงๆแล้ว ได้แก่ความว่างของพระอรหันต์ ความมีจิตว่างของพระอรหันต์คือหมดกิเลสแล้ว
สำหรับพระอริยบุคคลขั้นต้นๆ เช่นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี อนาคามีนั้นก็มีความว่างแต่ยังไม่ถึงที่สุด กิเลสทุกอย่างยังไม่ดับยังเหลืออยู่บางอย่าง ก็ว่างตามส่วน
แต่สงเคราะห์เข้าไปในพวกที่มันว่างอย่างพระอรหันต์ ถ้าละกิเลสส่วนใดได้กิเลสส่วนนั้นไม่มาทำวุ่นอีก นั้นจึงผิดกันกับว่างที่เราบังคับ คุณดูให้ดี ถ้าจะนับให้หมดมีสี่อย่าง
อย่างแรกก็อย่างเช่นหลับตามธรรมชาติเป็นต้น อย่าเอาดีกว่าแต่ก็นับเป็นเลขหนึ่ง ทีนี้ก็มาถึงอันสามอย่างถัดมานี้คือ ก็คือสิ่งที่จะต้องสนใจ
ว่างเพราะสิ่งแวดล้อมประจวบเหมาะก็พยายามจัดสิ่งแวดล้อมให้เกิดผลอย่างนั้น
ว่างเพราะเราบังคับไปได้ เราก็ต้องการบังคับทำกรรมฐานทำวิปัสสนาบังคับเข้าไว้ ทีนี้อีกทีหนึ่งก็ว่างเพราะมันหมดกิเลส
– ท่านพุทธทาสภิกขุ –